วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

ซีอุส เทพเจ้าแห่งขุนเขาโอลิมปัส


ซีอุส เทพเจ้าแห่งขุนเขาโอลิมปัส


เทพซูส (อังกฤษ: Zeus, /zus/)
          เป็นราชาแห่งทวยเทพ ผู้ปกครองเขาโอลิมปัส (Olympus) และเทพแห่งท้องฟ้าและฟ้าร้องของตำนานเทพปกรณัมกรีก สัญลักษณ์ประจำพระองค์คือสายฟ้า โคเพศผู้ นกอินทรี และต้นโอ๊ก นามของซีอุสแปลว่าความสว่างของท้องฟ้า
นามของพระองค์ในตำนานเทพปกรณัมโรมันคือเทพจูปิเตอร์ (Jupiter) และนามในตำนานอีทรูสแคนคือเทพไทเนีย (Tinia)
พระองค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้องของโครนัส (Cronus) และรีอา (Rhea) ซึ่งเป็นเทพไททัน ในหลายๆ ตำนานกล่าวว่าพระองค์ได้สมรสกับเทพีเฮร่า (Hera) แต่ก็มีสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองดอโดน่า (Dodona) ที่อ้างว่าคู่สมรสของเทพซูสแท้จริงแล้วคือเทพีไดโอนี (Dione) นอกจากนี้มหากาพย์อีเลียด (Illiad) ยังกล่าวไว้ว่าเทพซูสเป็นพระบิดาของเทพีอโฟรไดต์ (Aphrodite) ที่กำเนิดจากเทพีไดโอเน่อีกด้วย เทพซูสมักมีชื่อเสียงในพฤติกรรมนอกลู่นอกทางเรื่องชู้สาวของพระองค์ ซึ่งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มนามแกนีมีด (Ganymede) ด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของพระองค์ทำให้เกิดผู้สืบเชื้อสายอยู่หลายองค์และหลายคนด้วยกัน อาทิเช่น เทพีอาธีน่า (Athena) เทพอพอลโล (Apollo) และเทพีอาร์ทีมิส (Artemis) เทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพีเพอร์ซิโฟเน่ (Persephone) เทพไดโอไนซัส (Dionysus) วีรบุรุษเพอร์ซีอุส (Perseus) วีรบุรุษเฮอร์คิวลีส (Hercules) เฮเลนแห่งทรอย (Helen) กษัตริย์ไมนอส (Minos) และเหล่าเทพีมิวเซส (Muses) ส่วนผู้สืบเชื้อสายที่เกิดจากเทพีเฮร่าโดยตรงได้แก่เทพเอรีส (Ares) เทพีเฮบี (Hebe) และเทพเฮฟเฟสตุส (Hephaestus) เทพีเอริส (Eris) และ เทพีไอไลธีเอีย (Eileithyia)

กำเนิดของซูส
          ตำนานการถือกำเนิดของเทพซูสมีอยู่ว่า เทพีไกอาเทพมารดาแห่งผืนดิน ได้สมรสกับเทพยูเรนัสเทพแห่งท้องฟ้า และมีบุตรกลุ่มแรกคือ เหล่าเทพไททันซึ่งสร้างความภาคภูมิแก่เทพยูเรนัสมาก แต่ทว่าบุตรต่อๆมาของเทพีไกอากลับอัปลักษณ์และน่ากลัว เช่น ยักษ์ไซคลอปส์ที่มีตาข้างเดียวกลางใบหน้า และอสุรกายน่าเกลียดต่างๆ ทำให้เทพยูเรนัสพิโรธโยนบุตรเหล่านั้นลงไปขังในคุกทาร์ทะรัสใต้พิภพ
เทพีไกอาแค้นเทพยูเรนัสมากจึงยุยงให้เหล่าเทพไททันก่อกบฏ ไม่มีเทพองค์ใดที่กล้าชิงบัลลังก์พระบิดายกเว้นเทพโครนัส และจากการช่วยเหลือจากเทพีไกอาทำให้เทพโครนัสชิงอำนาจได้สำเร็จ ทว่าเทพโครนัสไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะปลดปล่อยอสูรผู้เป็นน้อง เทพีไกอาจึงสาปแช่งว่าบุตรที่จะเกิดมาของโครนัสจะชิงอำนาจไปเหมือนกับที่บิดาเคยทำ
เทพโครนัสตระหนักมากเพราะหลังจากนั้นไม่นาน เทพีรีอา พระชายาก็ตั้งครรภ์ เมื่อได้ข่าวการประสูติ เทพโครนัสจึงบุกเข้าไปในตำหนักพระชายาและจับทารกผู้เป็นสายเลือดของตนกลืนลงท้องไป และครรภ์ต่อๆมาของเทพีรีอาก็เช่นกัน ส่งผลให้เทพีรีอาเศร้าเสียใจอย่างมาก
โครนัสให้กำเนิดบุตรและธิดารวมหกองค์ คือ เฮสเทีย เฮดีส ดีมิเตอร์ โพไซดอน เฮรา ซูส ซึ่งพอกำเนิดมาได้ถูกโครนัสจับกลืนลงท้องไปแต่เนื่องด้วยซูสหนีออกมาได้ จึงรอให้ตัวเองโตแล้วกลับมาช่วยอีก 6 องค์ในภายหลัง เนื่องจาก เฮสเทีย เฮดีส ดีมิเตอร์ โพไซดอน และเฮรา เป็นเทพจึงไม่ตายตอนอยู่ในท้องของโครนัส

การโค่นอำนาจไททันโครนัส
          ความคับแค้นใจทำให้เทพีรีอาตัดสินใจเก็บบุตรคนสุดท้องเอาไว้ โดยแสร้งส่งก้อนหินห่อผ้าให้เทพโครนัสไป ทารกซูสถูกเลี้ยงดูอย่างดีโดยเทพีไกอาผู้เป็นย่าได้นำทารกซีอุสไปซ่อนไว้ในหุบเขาดิกเทอ ในเกาะครีต ซีอุสกินอาหารคือน้ำผึ้งและน้ำนมจากนิมฟ์ครึ่งแพะที่ชื่อว่า อะมาลไธอา ซึ่งในภายหลังซีอุสได้ได้สร้างนางให้เป็นกลุ่มดาวแพะ หรือกลุ่มดาวมกรในจักรราศีและมีครึ่งเทพครึ่งแพะแห่งป่าที่เล่นฟลุทอยู่ตลอดเวลาชื่อแพนเป็นผู้ให้การศึกษา เมื่อซีอุสเติบใหญ่แข็งแรงจึงหวนกลับไปแก้แค้นโครนอสผู้เป็นเทพบิดาตามคำร้องขอของเทพีมารดา
รีอาได้หลอกให้โครนอสกินยาที่จะทำให้สำรอกบุตรที่เคยกลืนออกมา ด้วยความเป็นเทพเจ้าทำให้เหล่าเทพที่ถูกกลืนลงไปไม่ตายซ้ำยังเติบโตขึ้น เรียงลำดับได้ดังนี้
1.เทพีเฮสเทีย หรือ เวสตา เทพีแห่งไฟและเทพีผู้คุ้มครองครอบครัว เป็นเทพีครองพรหมจรรย์
2.เทพี ดีมิเตอร์ หรือ เซเรสเทพีแห่งพันธุ์พืช ธัญญาหารและการเพาะปลูก มีธิดากับเทพซูสหนึ่งองค์คือ เทพีเพอร์ซิโฟเน หรือ โพรเซอพิน่าผู้เป็นชายาของฮาเดส
3.เทพี เฮราหรือ จูโนเทพีแห่งการสมรส เป็นมเหสีของเทพซูส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องหึงหวง มีโอรสและธิดากับเทพซูส 3 องค์คือ เฮฟเฟสตุส ฮีบีกับ อาเรส
4.เทพเฮดีสหรือ พลูโต จ้าวแห่งดินแดนใต้พื้นพิภพ เป็นผู้ปกครองพิภพบาดาลและโลกคนตาย มีเทพีเพอร์ซิโฟเนหรือ โพรเซอร์พิน่าเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิผู้เป็นธิดาของเทพีเซเรสเป็นมเหสี
5.เทพโพไซดอนหรือ เนปจูน จ้าวแห่งท้องทะเล ปกครองน่านน้ำเมดิเตอร์เรเนียนและน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ มีเทพีแอมฟิไทรท์ หรือ อัมฟิตรีติ เป็นมเหสี
เมื่อเทพทั้งห้าได้ออกมาจากท้องของโครนัสแล้วจึงร่วมกับซูสปราบโครนัสและส่งโครนัสไปขังไว้ที่ทาร์ทะรัส
ซูสได้รับตำแหน่งเทพผู้นำของเหล่าเทพ เนื่องจากการจับฉลากแบ่งหน้าที่ของทั้งสามพี่น้อง และได้พาเหล่าเทพทั้งหลายขึ้นไปอาศัยอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัส
แม้ว่าเหล่าเทพทุกองค์จะยอมยกตำแหน่งผู้นำให้กับซูสในทีแรก แต่ในตอนหลังเหล่าเทพต่างๆก็ต่างพากันหาหนทางในการยึดอำนาจมาเป็นของตนเองอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮราผู้เป็นชายาของซูส ได้พยายามที่จะรวบรวมเหล่าเทพเพื่อก่อการกบฏอยู่เสมอ แต่ในท้ายที่สุดซูสก็สามารถที่แก้ไขปัญหา และจับตัวนางมาลงโทษได้อยู่เสมอ

         ที่ประทับสำคัญ ซึ่งชาวกรีกสร้างถวายซูสนั้นยังมีซากเหลืออยู่ให้เห็นคือวิหารโอลิมเปีย ใกล้ๆ เขาโอลิมปุสที่เมืองอิลิส เป็นที่ซึ่งใช้แข่งกีฬาโอลิมปิกโบราณทุกๆ 4 ปี
เมื่อกล่าวถึงซูสแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงคู่ของพระองค์ คือเทพีเฮรา (HERA) หรือ จูโน (JUNO) ของโรมัน นับเป็นเทพีหมายเลขหนึ่งของสรวงสวรรค์ พระนางเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ และ “ดุ” จนเป็นที่ยำเกรงแก่เทพและมนุษย์ทั้งปวง ที่น่าแปลก คือเทพีมเหสีของพระอิศวร จอมเทพ คือ “พระแม่อุมา” ก็เป็นเทพีที่ “ดุร้าย” ยามอยู่ในปาง “เจ้าแม่ทุรคา” เช่นกัน(คล้ายกับซูส) ว่ากันว่าที่ซูสทรงอภิเษกกับเฮรานั้นก็เพื่อสวัสดิภาพของพระองค์เอง และเพื่อให้มีบารมี เพิ่มขึ้นด้วย เฮราจัดเป็น “แม่พระธรณี” ของโลก อีกทั้งยังพิทักษ์สตรีที่ตั้งครรภ์ให้คลอดบุตร ได้อย่างปลอดภัย



วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
            ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย  พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล  นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก  ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิคทางด้านตะวันออก  ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู  ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด  และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐ  พระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทย ในทุกทิศทาง  จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงคราม เป็นระยะเวลายาวนาน
            พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์  เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล  ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอด มิได้ว่างเว้น  แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต  ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย  นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์ เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง  สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์  และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทอดทูลไว้เหนือเกล้า ฯ ไปตราบชั่วกาลนาน
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช 2098  พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ดังนั้น พระองค์จึงมีพระชาติ ทั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทางพระราชบิดา และราชวงศ์อยุธยาทางพระราชมารดา  พระองค์ทรงมีพระพี่นาง พระนามว่า  พระสุวรรณเทวีหรือพระสุพรรณกัลยา และพระน้องยาเธอ พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
            เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 9 ปี  พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม  พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง 6 ปี  เมื่อพระชันษาได้ 15 ปี  จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา  เพื่อช่วยราชการพระบิดา โดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
            ขณะทรงพระเยาว์และในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี  ก็ได้ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก  พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า  มอญ  และได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี  ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ  ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์  ยุทธวิธีที่ทรงใช้ เช่น  การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีเดินเส้นใน  พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป  นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย  หลักการรุก  การออมกำลัง และการรวมกำลัง  การดำเนินกลยุทธ  เอกภาพในการบังคับบัญชา  การระวังป้องกัน  การจู่โจม  หลักความง่าย ฯลฯ  พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด
                                                 การฉวยโอกาสซ้ำเติมไทยของเขมร
            เมื่อปี พ.. 2113  พระยาละแวกหรือสมเด็จพระบรมราชา กษัตริย์เขมร  ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อน ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทองเห็นไทยบอบซ้ำจากการทำสงครามกับพม่า  ได้ถือโอกาสยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมกรุงศรีอยุธยา  โดยยกกองทัพมีกำลัง 20,000 คน  เข้ามาทางเมืองนครนายก  เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลบ้านกระทุ่ม  แล้วเคลื่อนพลเข้าประชิดพระนคร  โดยได้เข้ามายืนช้างบัญชาการรบอยู่ในวัดสามพิหาร  และวางกำลังพลรายเรียงเข้ามาถึงวัดโรงฆ้อง ต่อไปถึงวัดกุฎีทอง และนำกำลังพล 5,000 คน ช้าง 30 เชือก  เข้ายึดแนวหน้าวัดพระเมรุราชิการาม  พร้อมกับให้ทหารลงเรือ 50 ลำ  แล่นเข้ามาปล้นพระนครตรงมุมเจ้าสนุก
            สมเด็จพระมหาธรรมราชา  เสด็จออกบัญชาการรบป้องกันพระนครเป็นสามารถ  กองทัพเขมรพยายามยกพลเข้าปล้นพระนครอยู่ 3 วัน  แต่ไม่สำเร็จจึงยกกองทัพกลับไป  และได้กวาดต้อนผู้คนชาวบ้านนาและนครนายกไปยังประเทศเขมรเป็นจำนวนมาก
            ต่อมาเมื่อปี พ.. 2117  ในขณะที่กองทัพไทยในบังคับบัญชาของสมเด็จพระธรรมราชาธิราช กับ สมเด็จพระนเรศวรโอรส ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี ไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต  พระยาละแวกกษัตริย์เขมร ถือโอกาสยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก  โดยยกมาทางเรือ  การศึกครั้งนี้โชคดีเป็นของไทย  กล่าวคือขณะที่กองทัพไทยยกไปถึงหนองบัวลำภู  เมืองอุดรธานี  สมเด็จพระนเรศวรทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ  พระเจ้าหงสาวดีโปรดให้กองทัพไทยยกกลับกรุงศรีอยุธยา
            กองทัพไทยกลับมาได้ทันเวลาที่กรุงศรีอยุธยา  ถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมร  ซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนอ้าย พ.. 2118  และได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอน บางตะนาว และลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพะแนงเชิง (พนัญเชิงและใช้เรือ 3 ลำ เข้าทำการปล้น  ชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย
            ไทยใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่าย  ถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก  แล้วให้ทหารเรือ เอาเรือไปท้าทาย ให้ข้าศึกออกมารบพุ่ง  จากนั้นก็ล่อหลอกให้ข้าศึก รุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่  เมื่อพร้อมแล้ว ก็ระดมยิงปืนใหญ่ ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป
การให้บทเรียนแก่เขมรที่ไชยบาดาล
            ในปี พ.. 2121  เจ้ากรุงกัมพูชากษัตริย์เขมร ให้พระทศโยธากับพระสุรินทรราชา  คุมกองทัพเขมรเข้ามากวาดต้อนราษฎรชาวไทย แถบเมืองนครราชสีมา  เจ้าเมืองนครราชสีมามีกำลังน้อย จึงไม่ได้ออกต่อสู้  ฝ่ายเขมรเห็นได้ที จึงได้ยกทัพมุ่งมาทางเมืองสระบุรี  หมายปล้นสะดมหาเสบียงที่เมืองสระบุรีต่อไป  สมเด็จพระนเรศวร  ซึ่งปกติพระองค์จะเสด็จประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก  บังเอิญในเวลานั้น ได้เสด็จมาเยี่ยมพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา  ทราบข่าวกองทัพเขมรยกล่วงล้ำเข้ามาดังกล่าว  จึงพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ  ทรงจัดกำลังช้างเร็ว ม้าเร็วกับทหาร 3,000 คน  ยกขึ้นไปดักทัพเขมรที่เมืองไชยบาดาล  ให้พระยาไชยบุรี กับพระศรีถมอรัตน์  เจ้าเมืองท่าโรง (วิเชียรบุรี) คุมทัพม้า 500  เป็นกองหน้ารีบรุดขึ้นไปก่อน  และให้ซุ่มอยู่สองข้างทางในดงใหญ่ ที่กองทัพเขมรจะยกมา  ฝ่ายกองทัพเขมรเห็นว่า ในระหว่างเดินทัพมา  ไม่มีการต่อสู้ขัดขวางจากฝ่ายไทย  และเห็นว่ายังอยู่ห่างไกลจากกรุงศรีอยุธยา  จึงเคลื่อนทัพมาด้วยความประมาท  ขาดความระมัดระวัง  คิดว่าคงไม่มีใครออกมาต่อสู้  เมื่อกองหน้าของทัพเขมร ถลำเข้ามาในพื้นที่ที่ฝ่ายไทยซุ่มอยู่  พระไชยบุรีกับพระศรีถมอรัตน์  จึงให้อาณัติสัญญาณให้ทหารที่ซุ่มอยู่ออกโจมตี  โดยฝ่ายเขมรไม่ทันรู้ตัว ฝ่ายไทยไล่ฆ่าฟันทหารเขมรล้มตายเป็นอันมาก  กองทัพเขมรก็แตกฉาน  กองทัพไทยก็ติดตามไปจนถึงทัพหลวง
            ฝ่ายพระทศโยธา และพระสุรินทราชาเห็นทัพหน้าแตกยับเยิน  ไม่ทราบแน่ว่ากองทัพไทยมีกำลังมากน้อยเพียงใด  ก็รีบถอยหนีกลับไปทางนครราชสีมา  ก็ได้ถูกทัพไทยที่ดักทางคอยอยู่ก่อนแล้ว  เข้าโจมตีซ้ำเติมอีก  กองทัพเขมรทั้งหมดจึงรีบถอยหนีกลับไปกรุงกัมพูชา
            การรบครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นที่เคารพยำเกรงแก่บรรดาแม่ทัพนายกอง และบรรดาทหารทั้งปวงเป็นที่ยิ่ง  กิตติศัพท์อันนี้เป็นที่เลื่องลือไปถึงกรุงหงสาวดี  และผลจากการรบครั้งนี้ทำให้เขมรไม่กล้าลอบมาโจมตีไทยถึงพระนครอีกเลย
การเสริมความแข็งแกร่ง
            การที่เขมรลอบเข้ามาซ้ำเติมไทยหลายครั้ง ในห้วงเวลาที่ไทยเสียแก่พม่านั้น  นับว่าเป็นคุณแก่ไทยในทางอ้อม  เพราะทำให้ราษฎรที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ครั้งเสียกรุงแก่พม่า ให้หนีภัยเขมร  กลับเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา  ทำให้ฝ่ายไทยมีกำลังขึ้น  นอกจากนั้นก็เป็นโอกาสที่ฝ่ายไทย  คิดอ่านจัดการป้องกันพระนคร ให้แข็งแกร่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเกรงว่าทางพม่าจะระแวงสงสัย
            การดำเนินเสริมสร้างความมั่นคงดังกล่าว ได้แก่การเสริมการป้องกันพระนครทางด้านตะวันออก  ซึ่งเป็นด้านที่ข้าศึก เคยตีฝ่าเข้าพระนครมาได้ในสงครามที่ผ่านมา  โดยให้ขุดขยายคลองขื่อหน้าคูพระนคร  ตั้งแต่วัดแม่นางปลื้ม  ตรงที่ต่อปากคลองเมืองทุกวันนี้  ลงไปจนปากข้าวสาร  ให้ลึกและกว้างกว่าเดิม และผลจากการขุดคลองขื่อหน้านี้  ได้ให้กำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก ขยายลงไปถึงริมแม่น้ำ ให้เหมือนกับกำแพงเมืองด้านอื่น  จากนั้นได้ให้สร้างป้อมใหญ่ขึ้นอีกป้อมหนึ่ง ที่มุมพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ป้อมมหาชัย  ซึ่งอยู่ตรงตลาดหัวรอในปัจจุบัน
            ป้อมตามแนวกรุงเก่าซึ่งมีอยู่ 16 ป้อมด้วยกันนั้น มีป้อมสำคัญอยู่ 3 ป้อม คือ ป้อมเพชร  ตั้งอยู่ตรงลำแม่น้ำ  ใช้รักษาพระนครทางด้านทิศใต้  ป้อมซัดกบ  ตั้งอยู่ตรงลำแม่น้ำแควหัวตะพาน  ใช้รักษาพระนครทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหมือ  ทั้งสองป้อมนี้มีอยู่เดิมตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์  ส่วนป้อมมหาชัยนั้นสร้างขึ้นใหม่  อยู่ตรงทางน้ำร่วม ที่มุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  เพื่อใช้รักษาพระนครทางด้านนี้
            นอกจากการสร้างเสริมคูเมืองกำแพงเมือง และบรรดาป้อมปราการทั้งหลายแล้ว  ก็ได้มีการรวบรวมกำลังพล  ช้าม้าพาหะ และจัดหาเครื่องศัตราวุธ มีปืนใหญ่เป็นต้นมาเพิ่มเติม โดยจัดหาจากต่างประเทศ  ที่เข้ามาค้าขายทางทะเลอยู่แล้ว
การรบที่เมืองคัง
            เมื่อปี พ.. 2124  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคต  ราชโอรสองค์ใหญ่พระนามมังไชยสิงห์  ซึ่งเป็นรัชทายาท และดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง  พระเจ้านันทบุเรงได้ตั้งมังกะยอชะวา  พระราชโอรสขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา  เมื่อกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์  ก็จะต้องมีฎีกาบอกกล่าวไปยังบรรดาประเทศราชทั้งหลาย  ให้มาเฝ้าตามพระราชประเพณี  ในครั้งนั้นก็มีพระเจ้าตองอู  ผู้เป็นพระอนุชาพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าแปรเป็นราชบุตรพระเจ้าบุเรงนอง  แต่คนละแม่กับพระเจ้านันทบุเรง  พระเจ้าอังวะผู้เป็นราชบุตรเขยพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าเชียงใหม่  พระเจ้ามินปะลอง ผู้ครองเมืองยะไข่ พระเจ้าหน่อเมือง ผู้ครองเมืองลานช้าง และสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งทางกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ส่งพระโอรสพระองค์ใหญ่คือ  สมเด็จพระนเรศวร เสด็จไปแทนพระองค์
            ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีเจ้าเมืองคังไม่ได้มาเข้าเฝ้าตามประเพณี  พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าเจ้าเมืองคังแข็งเมือง จำต้องยกทัพไปปราบปราม  เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป  ในโอกาสที่เจ้าประเทศราชมาชุมนุมกันอยู่นี้  จึงให้โอรสของพระองค์  และโอรสเจ้าประเทศราชที่มีฝีมือ ยกกำลังไปปราบปรามเมืองคังแทนพระองค์  ดังนั้นจึงได้จัดให้พระมหาอุปราชา (มังกะยอชะวา หรือ มังสามเกลียด) พระสังกทัต (นัดจินน่อง) ราชบุตรพระเจ้าตองอู  และสมเด็จพระนเรศวร  ยกทัพไปตีเมืองคัง เป็นทำนองประชันฝีมือกัน
            เมืองคังเป็นเป็นที่ตั้งอยู่บนภูเขา  เป็นเมืองเล็กพื้นที่น้อย  การที่กองทัพทั้ง 3 จะเข้าตีพร้อมกันเป็นการลำบาก  เพราะไม่มีพื้นที่ให้ดำเนินกลยุทธได้เพียงพอ  จึงตกลงกันให้ผลัดกันเข้าตีวันละกองทัพ  พระมหาอุปราชาได้รับเกียรติให้เข้าตีก่อน  เมื่อถึงวันกำหนด  พระมหาอุปราชาก็ยกกำลังเข้าตีเมืองคังในเวลากลางคืน  ชาวเมืองคังได้ต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ  รบกันจนรุ่งสว่างก็ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้  จึงต้องถอนกำลังกลับลงมา  วันต่อมา พระสังกทัตได้ยกกำลังเข้าตีเมืองคัง  แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน
            เมื่อถึงวาระของสมเด็จพระนเรศวร  พระองค์ได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี  โดยที่ในระหว่างสองวันแรก  ที่กองทัพทั้งสองผลัดกันเข้ามาโจมตรีนั้น พระองค์ได้ใช้เวลาดังกล่าว ออกลาดตะเวณตรวจดูภูมิประเทศ และเส้นทางบริเวณเมืองคังโดยตลอด  ก็พบว่า มีทางที่จะขึ้นไปยังเมืองคังทางด้านอื่นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากเส้นทางหลักที่กองทัพทั้งสองใช้เข้าตี  แต่เส้นทางดังกล่าวนั้นเป็นเส้นทางลับ และคับแคบ เคลื่อนกำลังไม่สะดวก  ดังนั้น พระองค์จึงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน  เมื่อถึงเวลาค่ำก็ให้กองทหารกองเล็กซุ่มอยู่ทางด้านหน้า  ซึ่งเป็นทางหลักที่พระมหาอุปราชาและพระสังกทัต ใช้เป็นเส้นทางเข้าตีมาก่อนแล้ว  และให้กองทหารกองใหญ่ ไปวางกำลังอยู่ที่เส้นทางที่ตรวจพบใหม่  กองทัพไทยทั้งสองกองซุ่มอยู่ตลอดคืน จนถึงเวลาสี่นาฬิกา  พระองค์จึงให้กองทหารกองเล็ก ยิงปืนโห่ร้อง แสดงอาการว่าจะเข้าตีเมืองทางด้านนั้น  ชาวเมืองคังเข้าใจว่า ข้าศึกจะยกเข้าตีหักเอาเมืองทางด้านนั้น เหมือนเช่นครั้งก่อน  และด้วยเป็นเวลามืด มองไม่เห็นข้าศึกว่ามีมากน้อยเพียงใด  ก็พากันมารบพุ่งต้านทางในด้านนั้น  เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า การต้านทานเมืองคัง ได้ทุ่มเทไปทางด้านนั้นหมดแล้ว  ก็สั่งให้กองกำลังส่วนใหญ่ ที่ซุ่มคอยอยู่ที่เส้นทางใหม่ เข้าตีหักเอาเมืองคังได้เมื่อเวลาเช้า  จับได้ตัวเจ้าฟ้าเมืองคังมาถวายพระเจ้าหงสาวดี
            พระเจ้าหงสาวดีหมายมั่นที่จะให้การเข้าตีเมืองคัง  เป็นผลงานของพระมหาอุปราชา  แต่ผลงานกลับเป็นของสมเด็จพระนเรศวร  ผลสำเร็จในการปฎิบัติการยุทธของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้  เพราะพระปรีชาสามารถ ที่ทรงใช้หลักการสงคราม มาประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติจริงอย่างได้ผล  เมื่อพระองค์เสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาแล้ว  ก็ได้ทรงปรับปรุงกองทัพ  และเตรียมการณ์ต่าง ๆ ไว้พร้อมที่จะรับสถานการณ์ในอนาคตโดยมิได้ประมาท
การประกาศอิสรภาพ
            เมื่อปี พ.. 2126  พระเจ้าอังวะเป็นกบฎ  เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ  จึงแข็งเมือง พร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย  พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ  ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร  เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่  รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย  ให้ยกทัพไปช่วย  ทางไทย  สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.. 2126  พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน  ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงแคลงใจว่า  ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย  จึงสั่งให้พระมหาอุปราชา คุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้  ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับ และหาทางกำจัดเสีย  และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม   ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน  ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง  อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย  พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า  เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป  ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด  ให้พระยาเกียรติและพระยาราม  คุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง  ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้  พระยาเกียรติกับพระยาราม  เมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่อง  ผู้เป็นอาจารย์ของตน ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดี  เพราะมหาเถรคันฉ่องกับสมเด็จพระนเรศวร  เคยรู้จักชอบพอกันมาก่อน
            กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ  เดือน 6 ปีวอก พ.. 2127  โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน  กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง  เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้า ฯ  สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่อง  ซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน  พระมหาเถรคันฉ่องมีใจสงสาร จึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางกรุงหงสาวดี  แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยาราม กราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง  เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว  ก็ทรงมีพระดำริเห็นว่า  การเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยาราม และทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน  แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง และพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน  ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม    ที่นั้นทราบว่า  พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์  จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า
            "ด้วยพระเจ้าหงสาวดี  มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี  เสียสามัคคีรสธรรม  ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา  ตั้งแต่นี้ไป  กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี  มิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"
            จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด  พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย  สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่า  แล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ  เมื่อจัดกองทัพเสร็จ ก็ทรงยกทัพจากเมืองแครง ไปยังเมืองหงสาวดี  เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6
            ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี  เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติ พระยารามกลับไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร  จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี   ได้ทราบความว่า  พระเจ้ากรุงหงสาวดีมัชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว  กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร  พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน  เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้  จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทย  ที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อน ให้อพยพกลับบ้านเมือง  ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษ  ให้ยกล่วงหน้าไปก่อน  พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง
            ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับ  จึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า
พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง  ยกติดตามกองทัพไทยมา  กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง  ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว  และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้  ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ  สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ  ยิงถูกสุรกรรมา  แม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง  กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป  เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี
            พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฎต่อมาว่า  "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงนับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ  อันเป็นเครื่องราชูปโภค  ยังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
            เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง  ทรงดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก  สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา  พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญ  ที้งสองก็มีความยินดี  พาพรรคพวกสเด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก  ในการยกกำลังกลับครั้งนี้  สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีก  ถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา  มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร  จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง  พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม  นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้  มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์
            เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว  สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์  ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชา ที่สมเด็จอริยวงศ์  และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศ  ได้พระราชทานพานทอง  ควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย  ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น  และวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร  แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึก  ให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา


วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Plastics Molding Injection

ประวัติพลาสติก
ในปี  ค.ศ.1868  (พ.ศ.2411) ช่างพิมพ์  (Printer)ชาวอเมริกันชื่อ  John  Wesley  Hyatt  ได้ค้นพบพลาสติกชนิดแรกของสหรัฐอเมริกา  ชื่อเซลลูลอยด์  (Celluliod หรือ Cellulose Nitrate)  โดยการนำเอาไพรอกซีลีน  (Pyroxylin)  ซึ่งทำจากฝ้ายกับกรดไนตริคผสมกับการบูร (Solid  Camphor)  ทำเป็นลูกบิลเลียด ซึ่งเกิดขาดแคลนมากในระยะนั้น  ขณะเดียวกันที่อังกฤษได้นำไพรอกซีลีนไปทำเป็นวัสดุเคลือบผิว  (Coating Materials)
                      ต่อมาได้มีผู้นำเอาเซลลูลอยด์ดัดแปลงไปใช้ทำเหงือกฟันปลอมแทนการใช้ยางแข็ง  หลังจากนั้นได้นำเอาไปใช้ทำกระจกรถยนต์  จนกระทั่งปี  ค.ศ.1882  (พ.ศ.2452)  บริษัท Eastman ได้ประดิษฐ์ทำเป็นฟิล์มภาพยนตร์
                การคิดค้นพลาสติกได้หยุดชะงักไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง  จนกระทั่งปี  ค.ศ.1909  (พ.ศ.2452)  Dr.Leo  Hendrink  Baekeland  ได้ค้นพบพลาสติก  ชื่อฟีนอล ฟอร์มาลดีไฮล์  (Phenol  Formaldehyde) หรือฟีนอลโนลิค  (Phenolic)  โดยการสังเคราะห์ฟีนอลกับฟอร์มาลดีไฮด์เข้าด้วยกัน  พลาสติกชนิดนี้เรารู้จักกันดีในชื่อ  เบเกอร์ไลท์  ซึ่งใช้ทำด้ามกะทะ  หูหม้อและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ต่อมาได้มีการคิดพลาสติกใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามตารางที่แสดงต่อไปนี้
 
ค.ศ.
ชื่อพลาสติก
                     ประเภทผลิตภัณฑ์
1868


Cellulose   Nitrate
กรอบแว่นตา ลูกบิลเลียด พลาสติก  บรรจุของ
วัสดุใช้ทำฟันปลอม (ปัจจุบันใช้อะคริลิกแทน) 
ลูกปิงปอง
1909

Phenol- Formaledhyde
(Phenolic)
ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้ามมือจับหม้อ 
กะทะ (ชนิดสีเข้ม)  โฟม
1909
Cold   Molded
ปุ่มจับ มือถือ
1919
Casein
กระดุม เครื่องประดับ กาว
1926
Alkyd
ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ไฟฟ้า น้ำยาเคลือบผิว
1909
Phenol- Formaledhyde
(Phenolic)
ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้ามมือจับหม้อ
กะทะ (ชนิดสีเข้ม)  โฟม
1909
Cold   Molded
ปุ่มจับ มือถือ
1919
Casein
กระดุม เครื่องประดับ กาว
1926
Alkyd
ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ไฟฟ้า น้ำยาเคลือบผิว สีน้ำมัน
1926
Analine – Formaledhyde
อุปกรณ์ไฟฟ้า
1927
Cellulose   Acetate
ฟิล์มถ่ายรูป พลาสติกบรรจุของ
1927
Polyvinyl  Chloride (PVC)
ผ้ายาง  กระเบื้องยาง  ท่อยาง  สายไฟ  ขวดบรรจุของเหลว  เช่น  ขวดน้ำมันพืช  ขวดแชมพูสระผม
1929
Urea - Formaledhyde
ผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า กาวไม้อัด
1936
Ethyl   Cellulose
ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ไฟฟ้า
1936
Acrylic
ป้ายโฆษณา   เลนซ์ หลังคาโปร่งใส ของชำร่วย
1936
Polyvinyl   Acetate
ยางประกบข้อต่อ   กาว
1938
Cellulose   Acetate   Butyrate
พลาสติกบรรจุของ ด้ามเครื่องมือ พวงมาลัยรถยนต์
1938
Polystyrene (PS)
ผนังด้านในตู้เย็น ลังแบตเตอรี่ กล่องบรรจุชนิด ใสและทึบ  ตู้วิทยุ  หน้ากากโทรทัศน์  ตลับเทป โฟมสีขาว
1938
Nylon (Polyamide)
เส้นใย เสื้อผ้า เกียร์ ส่วนรับน้ำหนักและเสียดสี
1938
Polyvinyl Acetal
กระจกแว่นตาใช้ในโรงงาน
1939
Polyvinyliecne  Chloride
พลาสติกหุ้มเบาะรถยนต์ (บางชนิด)
1939
Melamine - Formaledhyde
ถ้วยชาม ภาชนะบรรจุอาหาร
1942
Polyester (Unsaturated)
ผลิตภัณฑ์ ไฟเบอร์กล๊าส  เช่น  เรือ  รถยนต์  อ่างอาบน้ำ  ถังน้ำ  ผลิตภัณฑ์พลาสติกหล่อ
1942
Polyethylene  (PE)
ขวด ถุงพลาสติก ถังพลาสติกดอกไม้พลาสติก
1943
Fluorocarbon (Teflon)
วาล์ว ส่วนรับน้ำหนัก แผ่นกั้นระหว่างรอยต่อ
ในเครื่องจักรกล  วัสดุเคลือบหม้อกระทะ
    1943    
Silicone
แผ่นฉนวนกันความร้อนในเครื่องจักร แม่แบบยางในอุตสาหกรรมพลาสติกหล่อ  กาวเชื่อมกระจกตู้ปลา
1945
Cellulose  Propionate
พลาสติกบรรจุของ  ปากกา
1947
Epoxy
ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กล๊าสชนิดดีน้ำยาเคลือบผิวกาว  เครื่องมือและอุปกรณ์  (Tool & Jigs)
1948
Acrylonitrile - Butadiene–Styrene (ABS)
เครื่องรับโทรทัศน์  กระเป๋าใส่เสื้อผ้า  หมวกกันน็อค
ชนิดดี ตัวโครงเครื่องใช้ไฟฟ้า
1949
Allylic
อุปกรณ์ไฟฟ้า
1954
Polyurethane
ฟองน้ำ หนังเทียม วัสดุเคลือบผิว ไม้แกะสลัก
1956
Acetal
เกียร์ ส่วนรับน้ำหนักและเสียดสี
1957
Polypropylene (PP)
หมวกกันน็อค ผนังด้านในตู้เย็น ลังแบตเตอรี่ 
ถุงพลาสติก  ถังพลาสติก  และภาชนะพลาสติก  อื่นๆ
1957
Polycarbonate
กระจกหน้าหมวกของนักบินอวกาศ  
โคมไฟฟ้าสาธารณะ  ขวดนมเด็กชนิดดี
1959
Chlornated  Polyether
วาล์ว
1962
Phenoxy
ขวด
1962
Polyallomer
เครื่องพิมพ์ดีด
1964
Ionomer
พลาสติกบรรจุเครื่องมือหรือของมีคม (Skin Packages)  ลูกกอล์ฟ
1964
Polypropylene   Oxide
ลังแบตเตอรี่
1964
Polyimide
ส่วนรับน้ำหนัก ชิ้นส่วนอุปกรณ์มิเตอร์วัดน้ำ
1964
Ethylene – Vinyl Acetate
ผ้ายางพลาสติกชนิดหนา
1965
Patylene
น้ำยาเคลือบผิว
1965
Polysulfone
ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าชนิดทนความร้อนสูง
1970
Polyester (Thermoplastic)
ชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ เส้นใย ฟิล์มไมล่าร์
1973
Polybutylene
ท่อน้ำ
1975
Nitrile   Resins
ภาชนะบรรจุ



พลาสติก 
พลาสติก  คือสารสังเคราะห์  (Synthetic  Materials)  ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา  มีโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่มาก  (Macro-molecule)  ประกอบด้วยธาตุสำคัญ  คือ  คาร์บอนไฮโดรเจน  ออกซิเจน  ไนโตเจน  คลอรีน  ฟลูออรีน  ฯลฯ               
                                   
                                                          โครงสร้างโมเลกุล

                 สมาคมวิศวกรพลาสติก  (SPE)  และ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก  (SPI)  แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความของพลาสติกไว้ดังนี้
                “พลาสติก คือวัสดุที่ประกอบด้วยสารหลายอย่างมีน้ำหนักโมเลกุลสูงคงรูปเมื่อผ่านกรรมวิธีการผลิต  ลักษณะอ่อนตัวขณะทำการผลิต  ซึ่งโดยมากใช้กรรมวิธีการผลิตด้วยความร้อนหรือแรงอัดหรือทั้งสองอย่าง”              
                พลาสติกเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน  (Hydrocarbon)  ชนิดหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะพลาสติกส่วนมากมีแหล่งกำเนิดจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีพลาสติกหลายชนิดที่มีเฉพาะธาตุไฮโดรเจนและคาร์บอนล้วน ๆ ผสมอยู่  แต่พลาสติกส่วนมากยังประกอบด้วยธาตุชนิดอื่น ๆ เช่น  ออกซิเจน  ไนโตรเจน  คลอรีน  ฟลูออรีน  ฟอสฟอรัส  กำมะถัน  ฯลฯ